ถึงแม้ว่าโรคเก๊าท์เป็นโรคที่เกิดจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูง และในปัจจุบันมียาหลายชนิดที่ใช้ในการรักษาภาวะกรดยูริกในเลือดสูงก็ตาม แต่การรักษาด้วยวิธีการที่ไม่ใช้ยาก็ยังเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งแพทย์ส่วนใหญ่ได้ละเลยความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ไป
การให้การศึกษาแก่ผู้ป่วย การให้ความรู้เรื่องโรคเก๊าท์แก่ผู้ป่วย เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าโรคเก๊าท์ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หรือเมื่อข้อหายอักเสบแล้วไม่มีความจำเป็นต้องรับประทานยาต่อ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นความเข้าใจที่ผิด และคลาดเคลื่อน ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้าใจในตัวของโรค การปฏิบัติตัว รวมถึงแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง รวมทั้งการรับประทานยาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ไม่ควรปรับขนาดยาเอง เป็นต้น
ผู้ป่วยควรได้รับการแนะนำให้หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา หรือเบียร์ เนื่องจากสุราและเบียร์สามารถทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้น
หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์และอาหารทะเลในปริมาณมาก เพื่อรักษาโรคเก๊าท์
ควรดื่มนมให้มาก และดื่มน้ำให้มากเพื่อเพิ่มการขับกรดยูริกออกทางไต
หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีส่วนทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดเพิ่มสูงขึ้น เช่น การใช้ยาขับปัสสาวะในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง และใช้ยากลุ่ม angiotensin converting enzyme inhibitor หรือ calcium channel blocker แทน เป็นต้น มีรายงานว่า ยา losartan ซึ่งเป็น angiotensin receptor blockade (ARB) มีคุณสมบัติในการเพิ่มการขับกรดยูริกออกทางไตได้ถึงร้อยละ 13-30
ผู้ป่วยที่อ้วนหรือมีน้ำหนักตัวมากควรแนะนำให้ออกกำลังกาย คุมอาหารและลดน้ำหนักตัวให้มาอยู่ในเกณฑ์ปกติ การลดน้ำหนักตัวจะช่วยลดระดับกรดยูริกได้ระดับหนึ่ง รวมทั้งสามารถลดข้ออักเสบกำเริบได้ การให้อาหารที่จำกัดพลังงาน 1600 กก. แคลลอรี่/วัน ซึ่งจำกัดปริมาณคาร์โบฮัยเดรต และเพิ่มสัดส่วนของโปรตีนและไขมันไม่อิ่มตัว (unsaturated fat) โดยมีสัดส่วนของคาร์โบฮัยเดรต ร้อยละ 40 โปรตีนร้อยละ 30 และไขมันร้อยละ30 เป็นเวลา 4 เดือนพบว่าสามารถลดน้ำหนักตัวลงได้ 7.7 กก. และลดระดับกรดยูริกได้ประมาณร้อยละ 18 จากค่าเริ่มต้น และร้อยละ 58 ของผู้ป่วยที่มีระดับกรดยูริกในเลือดสูงมีค่าระดับกรดยูริกลดลงสู่ระดับปกติ นอกจากนี้ยังพบว่าในผู้ป่วยที่เป็นโรคเก๊าท์ การอักเสบกำเริบลดลงถึงร้อยละ 67 สำหรับการงดอาหารที่มีสารพิวรีนสูงอย่างจริงจังนั้นไม่มีความจำเป็นมากนัก เนื่องจากพบว่าถึงแม้จะรับประทานอาหารที่ไม่มีสารพิวรีนสูงอย่างจริงจังนั้นไม่มีความจำเป็นมากนัก เนื่องจากพบว่าถึงแม้จะรับประทานอาหารที่ไม่มีสารพิวรีนอยู่เลย (purine free diet) ก็สามารถลดระดับกรดยูริกในเลือดได้ประมาณ 1.0 มก./ดล. เท่านั้น
ในอดีตมีความเชื่อว่า เมื่อมีโรคเก๊าท์กำเริบให้หลีกเลี่ยงการบีบ นวด ถู รวมทั้งการประคบร้อน และประคบเย็น เนื่องจากเชื่อว่ามีโอกาสกระตุ้นให้โรคเก๊าท์อักเสบกำเริบได้ แต่ไม่นานมานี้ได้มีงานวิจัยที่พบว่า การประคบเย็นแก่ผู้ป่วยขณะที่มีข้ออักเสบกำเริบทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาโรคเก๊าท์ ได้ที่ http://www.delicate-care.com/article/23